
“สวรรค์ใต้ท้องทะเลอันดามัน” สำหรับคำว่า “สวรรค์” จากวลีข้างต้น ย่อมมาจากความสมบูรณ์และงดงามของแนวปะการัง แต่อย่างที่ทราบกันว่าทรัพยากรทางธรรมชาติใต้ท้องทะเลชนิดดังกล่าวนั้น มีความอ่อนไหวต่อการรบกวนจากหลายปัจจัย และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวยาวนาน ดังนั้นนักสำรวจ วิจัย เพื่อการอนุรักษ์ปะการัง จึงมีความสำคัญในการเป็นผู้รักษาสมดุลให้กับโลกใต้ท้องทะเล


ในขณะที่ใครหลายคนอยากสวมชุดรัดรูปสะพายถังออกซิเจนดำดิ่งลงไปทัศนาความสวยงามของโลกใต้ท้องทะเล แต่สำหรับ ดร.ทนงศักดิ์ จันทร์เมธากุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต และอีกบทบาทคือการเป็นนักชีววิทยาทางทะเล และนักวิจัย-อนุรักษ์ปะการัง ที่มีโลกทัศน์ที่ว่าท้องทะเลคือแหล่งศึกษาเรียนรู้สิ่งมีชีวิต ดร.ทนงศักดิ์ ดำดิ่งสำรวจ ศึกษาวิจัย รวมถึงให้บริการวิชาการ จัดทำรายงานเพื่อการอนุรักษ์แนวปะการังในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเขตอันดามัน ด้วยประสบการณ์การทำงานในภาคสนามกว่ายี่สิบปี ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังของประเทศไทย คอลัมน์ PKRU EXPERT ขอนำผู้อ่านทำความรู้จักกับผลงานและเรื่องราวของเขาผ่านบทสัมภาษณ์


ผลงานการศึกษาวิจัยด้านปะการัง
นอกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมเป็นนักชีววิทยาทางทะเลครับ ทำงานศึกษาวิจัยปะการัง ปะการังอ่อน และกัลปังหา โดยมุ่งเน้นศึกษาทางด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ปะการังที่อยู่ในน่านน้ำฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย สำหรับผลงานวิจัยเด่นๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังแข็ง ผลการศึกษาพบว่าปะการังมีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ปล่อยสเปิร์ม และไข่ออกมา ในช่วงเดือนมีนาคม– เมษายน และช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน นับว่าเป็นรายงานแรกของประเทศไทย ที่สามารถบ่งชี้ผลการศึกษาการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง นำไปสู่การวางแผนการจัดการแนวปะการังหรือเพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง และอีกเรื่องที่เป็นผลงานวิจัยที่เด่นก็คือการศึกษาความหลากหลายของปะการังอ่อน ผมค้นพบปะการังพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อว่า Ovabunda andamanensis ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของปะการังอ่อนในเขตน่านน้ำไทย โดยเราจะพบได้ในเขตพื้นที่ทะเลอันดามันเท่านั้น


การบริการวิชาการเพื่อท้องถิ่น
อีกส่วนนึงในบทบาทของอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต ผมมีหน้าที่ในการให้บริการวิชาการเพื่อรับใช้ชุมชนและท้องถิ่น โดยปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์ปฎิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลทรัพยากรในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติในเขตอันดามันตอนเหนือ เริ่มจาก จ.ระนอง มาจนถึงอ่าวพังงา โดยมุ่งเน้นศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแนวปะการัง บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน นั่นคืองานบริการวิชาการที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่องครับ อีกส่วนหนึ่งได้ทำงานร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยการออกไปสำรวจสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็นการสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ทั้งปะการังอ่อนและก็กัลปังหา ทั้งนี้ผลของการบริการวิชาการที่ทำร่วมกับหน่วยงานราชการข้างต้น ได้จัดทำข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานะภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังในเขตพื้นที่ของอุทยาน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนการจัดการทรัพยากร รวมถึงการจัดการการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น ในบางพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก อาจเกิดผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในแนวปะการัง เพราะฉะนั้นข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การวางแผนเชิงฟื้นฟูและอนุรักษ์ เช่น การปิดให้บริการจุดท่องเที่ยวการดำน้ำในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ชั่วคราวเพื่อให้ธรรมชาติได้พักและกลับคืนความสมบูรณ์ และนั่นก็คือเป็นส่วนหนึ่งในงานการบริการแก่ท้องถิ่นที่ผมรับผิดชอบอยู่ครับ


สถานการณ์ของปะการังในอันดามัน
สำหรับผลกระทบจากการศึกษาในแนวปะการังตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา พบว่าความเสื่อมโทรมของแนวปะการังในประเทศไทยเกิดจากสาเหตุใหญ่สองข้อ คือสาเหตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสาเหตุที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับปัจจัยหลักที่เร่งความเสื่อมโทรม คือ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) จากสภาวะโลกร้อนทำให้อุณภูมิของน้ำสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ทำให้เกิดการฟอกขาวขึ้น เมื่อเกิดการฟอกขาวก็จะทำให้แนวปะการังอ่อนแอ ปะการังป่วย หรืออาจทำให้ปะการังตายได้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 เกิดวิกฤตการณ์แนวปะการังฟอกขาวทั่วน่านน้ำไทย เหตุการณ์เมื่อครั้งนั้นส่งผลกระทบทั้งฝั่งทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย ปะการังเกิดความเสียหายไปกว่าร้อยละ 80 นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์ การใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง เช่น การท่องเที่ยวทางทะเล เรือท่องเที่ยว เรือสำราญ การดำน้ำ เกิดผลกระทบของแนวปะการังทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อาจจะทำให้แนวปะการังเกิดการแตกหักจากการสัมผัสของนักท่องเที่ยว จากผลกระทบต่างๆ ด้านความเสื่อมโทรมของปะการัง ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ช่วยกันสงวนและรักษาและฟื้นฟูแนวปะการัง เช่น การปลูกปะการังก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่ช่วยให้ปะการังเกิดการฟื้นฟูขึ้นมาได้ นอกจากนั้นสิ่งที่ช่วยไม่ให้แนวปะการังเกิดการเสื่อมโทรม คือช่วยกันคนละไม้คนละมือ โดยเริ่มจากตัวเราเองก็ได้ เริ่มจากการงดทิ้งขยะในทะเล และรณรงค์ให้มีการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


การจัดการศึกษาของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ PKRU
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการบูรณาการการศึกษาระบบนิเวศทางทะเล เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษามีโอกาสได้ลงภาคสนามศึกษาจากสถานที่จริง นอกจากนั้นสาขาวิชาได้แบ่งเป็นสองแขนงวิชา คือเคมี และชีววิทยา ซึ่งเป็นการเรียนการสอนในเรื่องของสิ่งมีชีวิตทั้งกลุ่มสัตว์และพืช ซึ่งกลุ่มสัตว์เราก็แบ่งออกเป็นสัตว์บกและสัตว์ทะเล พืชในทะเลก็จะมีสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล รวมถึงป่าโกงกาง อีกทั้งศึกษาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล และกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง ทั้งนี้องค์ความรู้ต่างๆ นักศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายทั้งทางด้าน เภสัชศาสตร์ เวชสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค จึงขอเชิญชวนนักเรียนที่สนใจสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต
สำหรับหน่วยงานหรือชุมชนที่สนใจในองค์ความรู้ ฐานข้อมูล การให้คำปรึกษาด้านการอนุรักษ์ ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาทางทะเลหรือแนวปะการัง สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ราชภัฏภูเก็ต โทร 0 7652 3094-7



