Thursday, 04 July 2019 15:20

PKRU EXPERT : ผศ.ดร.วิกรม กรุงแก้ว คืนความงามมงกุฎเจ้าสาวจีนบาบ๋า “ฮั้วก๋วน”

Written by
Rate this item
(1 Vote)
phuket art and culture 5 jul 2019 1
 
นโยบายด้านหนึ่งของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ที่ได้กำหนดเพื่อบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย คือ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย ด้วยการสืบสาน ถ่ายทอดคุณค่าศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาฐานข้อมูล และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สากล จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์งานวิจัยของบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
 
phuket art and culture 5 jul 2019 2
 
phuket art and culture 5 jul 2019 3
 
หนึ่งในนักวิจัยซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ โดยคอลัมน์ PKRU EXPERT ขอนำเสนอต่อผู้อ่าน คือ “ผศ.ดร.วิกรม กรุงแก้ว” อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต เจ้าของผลงานศึกษา ค้นคว้าและวิจัย เรื่อง “การศึกษารูปแบบวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนกลุ่มชาติพันธุ์บาบ๋าในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน” ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญส่วนหนึ่งในการศึกษาค้นคว้ามงกุฎเจ้าสาวจีน ในวัฒนธรรมบาบ๋า
 
อย่างที่ทราบกันว่าความงดงามของเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ต ที่ใช้สวมประดับศีรษะในพิธีวิวาห์ อย่างงดงามราวกับสตรีผู้สูงศักดิ์ ควบคู่กับอาภรณ์ยอดนิยมอย่างชุดบาบ๋า คือ “ฮั้วก๋วน”หรือ มงกุฎเจ้าสาวจีน จนกระทั่งความนิยมของการแต่งกายบาบ๋า ได้รับการโปรโมทเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกัน “ฮั๋วก๋วน” กลับเฉิดฉายอยู่เพียงบนภาพถ่ายโบราณอายุกว่า 100 ปี หรือเป็นของเก่าเก็บอยู่ในบ้านเรือนชาวพื้นถิ่น
 
phuket art and culture 5 jul 2019 4
 
phuket art and culture 5 jul 2019 5 
 
ด้วยบทบาทของนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผศ.วิกรม กรุงแก้ว เล็งเห็นถึงคุณค่าและโอกาสในการพัฒนาเครื่องประดับอันทรงคุณค่าดังกล่าว โดยได้เล่าถึงที่มาที่ไปและกระบวนการในการค้นคว้า ตีความ ออกแบบประดิษฐ์ และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ว่า “ฮั้วก๋วน คือเครื่องประดับศีรษะของสตรีชาวไทยเชื้อสายจีน ในกลุ่มชาติพันธุ์บาบ๋าไว้สำหรับสวมใส่ในวันเข้าสู่พิธีแต่งกายตามวัฒนธรรมบาบ๋า การสวมใส่นิยมแยกออกเป็นสองส่วน ซึ่งเป็นช่วงฐานด้านล่างเรียกว่า ‘ฮั้วก๋วน’ และตัวดอกไม้ที่ประดิษฐ์จากดิ้นโปร่งสีเงินหรือดิ้นโปร่งสีทองเรียกว่า ‘ดอกเฉ่งก๊อ’ ซึ่งแต่เดิมสมัยโบราณตัวฐานของมงกุฎ (ฮั้วก๋วน) ใช้ดอกมะลิหรือดอกพุดร้อยเป็นมาลัยกลมล้อมไว้รอบผมมวยรูปหอยโข่ง แล้วประดับด้วยดอกเฉ่งก๊อจำนวน 12 ดอก ตามจำนวนของเลขมงคลชาวไทยเชื้อสายจีน เรียกว่า ‘จับยี่ป่าย’ ดังนั้น จากการศึกษาภาพถ่ายโบราณ คำบอกเล่า และการสัมภาษณ์ผู้มีวัยวุฒิซึ่งเป็นสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนในกลุ่มชาติพันธุ์บาบ๋า สามารถประมวลความรู้ได้ว่า ฮั้วก๋วนมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเป็นมาที่ยาวนานหลายร้อยปี แต่เมื่อประเพณีการแต่งงานแบบโบราณ (วิวาห์บาบ๋า) ได้ซบเซาลงจนถึงขั้นเกือบจะเลือนหายไปจากวัฒนธรรมการประดิษฐ์มงกุฎสำหรับเจ้าสาวบาบ๋า ผู้ประดิษฐ์จึงได้ปรับเปลี่ยนและศึกษาวิธีการประดิษฐ์ ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ได้จริงในวัฒนธรรมการแต่งกายในพิธีแต่งงานแบบโบราณของสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนได้อย่างสวยงาม ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาความรู้และวิธีการประดิษฐ์มาอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
 
phuket art and culture 5 jul 2019 6
 
phuket art and culture 5 jul 2019 7 
นอกจากนี้การประดิษฐ์ฮั้วก๋วน (มงกุฎดอกไม้ไหว) ได้พัฒนาจากการศึกษาภาพถ่าย การสัมภาษณ์ และการศึกษาข้อมูลเชิงลึก โดยลงพื้นที่จากจังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งขนาดที่ใช้เป็นเครื่องประดับศีรษะของสตรีชาติพันธุ์บาบ๋าในวันเข้าสู่พิธีแต่งงาน ส่วนใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5.0 - 5.5 นิ้ว แต่ทั้งนี้เล็งเห็นว่ามงกุฏสตรีบาบ๋าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีความปราณีต และต้องใช้เวลาในการประดิษฐ์ค่อนข้างยาวนาน จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ฮั้วก๋วนให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาได้ในปัจจุบันมาประดิษฐ์ขึ้นเป็นมงกุฏเจ้าสาวขนาดเล็กบรรจุอยู่ภายในกล่องกระจก มีพื้นบริเวณฐานปูด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดง มีรอบฐานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.0-4.0 นิ้ว กลีบดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยดิ้นโปร่งสีทองหรือสีเงิน เกสรใช้ลวดทองเหลืองร้อยด้วยลูกปัดคริสตัลในรูปแบบต่าง ๆ โครงฐานใช้ผ้าพื้นสีขาวบุทับเส้นลวด ประดับตกแต่งด้วยลูกปัดหลากสี หรือลูกปัดคริสตัล พร้อมทั้งมีการประดับตกแต่งในส่วนต่างๆ บรรจุอยู่ภายในกล่องกระจก เพื่อให้เกิดความสวยงาม และสามารถสร้างรายได้ให้กับการบริการทางวิชาการให้กับหน่วยงานการศึกษา ได้ดำเนินการบริการวิชาการให้กับโรงเรียนเมืองภูเก็ต กลุ่มพัฒนาบทบาทสตรี ตลอดจนโรงเรียนดีบุกพังงาวิทยายน และนอกจากนี้ยังนำเรื่องราวของการประดิษฐ์มงกุฎดอกไม้ไหว มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง ในรายวิชารังสรรค์เพื่อศิลปะการจัดการแสดง เมื่อจบหลักสูตรนักศึกษายังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจทางด้านศิลปะการจัดการแสดง และสร้างผลกำไรเพื่อจุนเจือครอบครัวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งประสิทธิ์ผลจากการศึกษาข้อมูลดังกล่าว ยังสร้างอัตลักษณ์ให้กับธุรกิจชุมชน โดยการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นทุนเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ หรือเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาจัดอบรม สัมมนาทางวิชาการ และการประชุมทั้งในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย
 
phuket art and culture 5 jul 2019 8 
 
phuket art and culture 5 jul 2019 9
 
ผศ.ดร.วิกรม กรุงแก้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นมหาลัยเพื่อสังคมท้องถิ่น ดังนั้นผลการศึกษาจากการวิจัยการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมงกุฎดอกไม้ไหว โดยสาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง ซึ่งเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงวิชาการด้านนี้ มีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนเผยแพร่ อบรมหรือให้บริการวิชาการกับผู้สนใจ ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงหรือแม้กระทั่งการเข้ามาอบรมเรียนรู้ในเรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้ประดิษฐ์ ทั้งนี้สาขาวิชาศิลปะการจัดการแสดง เต็มใจและยินดีที่มอบฐานข้อมูลให้กับท่านโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์หากท่านเตรียมมาทางเรามีความเต็มใจที่จะสละเวลาทั้งแรงกายและแรงใจมอบความรู้ให้กับท่านโดยไม่หวังผลตอบแทน
 
ผลงานดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ ที่ตอกย้ำกับประชาชนในท้องถิ่น ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ม.ราชภัฏภูเก็ต โดยเฉพาะการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า วิจัย ถ่ายทอด เผยแพร่ และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพอย่างมั่นคง ยั่งยืน ตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนของคนท้องถิ่น ผ่านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ที่ต้องการให้ PKRU เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน สามารถติดต่อขอรับบริการได้ ณ ม.ราชภัฏภูเก็ต โทร 0 7652 3094-7 เราพร้อมให้บริการและร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไปด้วยกัน
 
phuket art and culture 5 jul 2019 10
 
phuket art and culture 5 jul 2019 11
 
phuket art and culture 5 jul 2019 12
 
phuket art and culture 5 jul 2019 13
 
phuket art and culture 5 jul 2019 14
 
Read 2522 times Last modified on Sunday, 04 August 2019 08:59