
สำหรับนักศึกษาที่มีฐานะเศรษฐกิจครอบครัวพร้อมการเรียนให้ถึงฝั่งฝันดูจะไม่ยากเย็นอะไร แต่สำหรับนักศึกษาที่ขัดสนทุนทรัพย์ การจะผ่านพ้นให้ได้สักเทอมคงลำบากไม่น้อย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์และมหาวิทยาลัย ความใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพคงต้องหยุดชะงัก มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ขอบอกเล่าเรื่องราวตัวอย่างของนักศึกษาผู้สู้ชีวิต ที่เลือกจะไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา มุมานะจนประสบความสำเร็จรับรางวัลเป็นความเลิศด้านการใช้ภาษาไทยระดับประเทศ สร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้องค์ประกอบที่เปรียบเสมือนน้ำที่หล่อเลี้ยง “น้องสายน้ำ” นางสาววรรณธิดา สามสี ที่มหาวิทยาลัยใส่ใจ ช่วยเหลืออย่างจริงจังและเป็นระบบ คือระบบสวัสดิการนักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น แต่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนในท้องถิ่น ลองติดตามเรื่องราวที่ PKRU อยากบอกเล่าสู่สาธารณชน

นางสาววรรณธิดา สามสี (น้องสายน้ำ) นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เจ้าของรางวัล “เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ด้านการพูด การอ่าน การเขียน” โดยกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2562 เปิดเผยว่า “น้ำอยากเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อนำทักษะไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตนเอง และครอบครัวต่อไป ตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 ได้ทำงานระหว่างเรียน เพราะมีความถนัดในด้านการพูด จึงได้ทำงานพิเศษเรื่อยมา นอกจากนี้ยังได้รับทุน กยศ. ตั้งแต่ปี 1 ต่อมาระหว่างศึกษาชั้นปีที่ 3 น้ำได้สูญเสียคุณพ่อ ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน และเป็นผู้ส่งเสียค่าใช้จ่ายในการเรียน จึงทำให้เกิดความขัดสน และกังวลว่าจะส่งเสียตนเองให้จบการศึกษาไม่ได้ แต่มหาวิทยาลัยได้เข้ามาดูแลผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในสาขาวิชา ทำให้ทราบข่าวประกาศทุนการศึกษาต่างๆ จึงได้ติดต่อไปยังผู้เกี่ยวข้อง จนผ่านการคัดเลือกเข้ารับทุนการศึกษา มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง จำนวน 40,000 บาท ต่อปีการศึกษา โดยให้ทุนจนเรียนจบ ซึ่งหลังจากที่สูญเสียพ่อ เคยตัดสินใจที่จะหยุดเรียน แต่จากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ในสาขา และได้รับกำลังใจ พร้อมช่วยหาหนทางเพื่อให้สามารถกลับมาเรียนได้อีกครั้ง ซึ่งน้ำต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่ให้ความดูแล ส่งเสริม สนับสนุนในด้านต่างๆ ส่งผลให้มีโอกาสและได้รับโอกาสที่จะทำให้ประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้"

เพราะหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนอกจากการสอนในห้องเรียน คือ การดูแลให้นักศึกษาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเข้าใจและดำเนินงานอย่างจริงจังและเป็นระบบ ดังเช่น ระบบสวัสดิการนักศึกษา ลองดูข้อมูลถัดจากนี้ว่ามหาวิทยาลัยมีการช่วยเหลือนักศึกษาในท้องถิ่นอย่างไร
ด้าน ผศ.ดร.นพดล จันระวัง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้กล่าวถึงระบบการจัดสวัสดิการให้กับนักศึกษาว่า “ในปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และด้วยมหาวิทยาลัยไม่มีรายได้ในปริมาณที่มากเพียงพอและได้รับงบประมาณในการจัดสรรค่อนข้างน้อยนัจึงเป็นที่มาของการจัดระบบสวัสดิการสำหรับนักศึกษาขึ้นโดยกองพัฒนานักศึกษา ทั้งนี้ได้มีการให้ความสำคัญกับนักศึกษา ตั้งแต่วันแรกที่นักศึกษาเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษา ทั้งเรื่องทุนการศึกษาต่างๆ การให้บริการศูนย์ประสานงานนักศึกษาทำงานระหว่างเรียน(part-time) ในปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยได้มีการจัดหาแหล่งทุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในปีการศึกษา 2562 มหาวิทยาลัยได้รับทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 224 ทุน รวมเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท โดยได้รับทุนตั้งแต่ 5,000 – 40,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ประกอบกับการจัดบริการการทำงานระหว่างเรียนให้กับนักศึกษา ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการลดภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในการศึกษา และนอกจากนี้แล้วยังมีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยเฉพาะในปีการศึกษา 2562 นักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถกู้ยืมเงินได้ 100% ด้วยลักษณะการดำเนินจัดสวัสดิการด้านการดูแลนักศึกษาดังกล่าว ทำให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งนักศึกษาที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน มหาวิทยาลัยได้มีการให้ความช่วยเหลือผ่านคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย (คสม.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่คอยจัดหาแหล่งทุนเพิ่มเติมจากที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อีกทางหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยดำเนินการตามพันธกิจในการผลิตบัณฑิตคุณภาพออกสู่ท้องถิ่นได้สำเร็จ จึงดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันเข้ารับปริญญา”