ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 รศ.ประภาศรี อึ่งกุล นักวิจัยและประธานสาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมจัดนิทรรศการและเผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง “การจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง” Knowledge Management of Southern Local Wisdom at Phuket, Phung-Nga, Krabi and Trang Province ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2559 (Thailand Research Expo 2016) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
รศ.ประภาศรี อึ่งกุล เปิดเผยว่า “การศึกษาวิจัยดังกล่าวของสาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นการสังเคราะห์งานจากการลงพื้นที่ ซึ่งศึกษาบทเรียนจากพื้นที่สู่การพัฒนาการเรียนรู้ของอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาฯ (HR Community Development) เป็นการศึกษาวิจัยที่เกิดจากกระบวนการค้นหา ปัญหา ความต้องการจำเป็นแบบมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยใช้การศึกษาวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participation Action Research : PAR) เพื่อศึกษาวิจัยที่เริ่มต้นจากความต้องการของชุมชน และชุมชนมีส่วนร่วมด้วยการเป็นนักวิจัยพื้นถิ่น ทั้งนี้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมหรือชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ใช้วิธีบูรณาการการศึกษาวิจัยกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยยึดหลัก P (PLAN) D (DO) C (Check) A (Act) มีการประเมินผลความสำเร็จของการบูรณาการเพื่อปรับปรุง สรุปบทเรียน และสังเคราะห์องค์ความรู้ จนเกิดเป็นวิธีการจัดการความรู้ (Knowledge Management) และเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเชิงพื้นที่ (Area Based) 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ได้ดำเนินการในเรื่องการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ มุ่งเน้นศึกษาเชิงประเด็น (Oriented Issue Based) จำนวน 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ภูมิปัญญาด้านเศรษฐกิจฐานราก ประเภทกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมชน 2.ภูมิปัญญาด้านอาหารพื้นบ้าน 3.ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย 4.ภูมิปัญญาด้านการแสดง .รองเง็ง 5.ลิเกป่า 6.รำวงเวียนครก 7.มโนราห์ และ 8.ภูมิปัญญาด้านพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ข้าวไรซ์เบอรรี่ และสับปะรดภูเก็ต ซึ่งจากการสังเคราะห์งานและถอดบทเรียนทั้ง 8 ประเด็น ผู้วิจัยจะมีการดำเนินการขยายผลเกี่ยวกับการเพิ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ในมิติอื่นๆ เพื่อพัฒนาการวิจัยในระดับกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น (Cluster of Southern Local Wisdom) และจำเป็นต้องเพิ่มกลไกเสริมในการสนับสนุนการพัฒนางานด้วยการจัดตั้งองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ตลอดจนมุ่งเน้นกระบวนการ การสืบสาน การเผยแพร่ การถ่ายทอด การเชื่อมโยง นำไปสู่ความเข้มแข็ง และยั่งยืนของชุมชนภาคใต้” นักวิจัยด้านการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ เผย
ติดตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ทาง W: www.pkru.ac.th E: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. F: facebook.com/pkrupageT: 076 211 959