มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เริ่มต้นจากการเป็นส่วนหนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นสูง (Higher Education Institution) 3 แห่ง ที่จัดตั้งขึ้นในจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2515 โดยกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้สถาปนาขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต บุรีรัมย์ และลำปาง ด้วยวัตถุประสงค์เชิงซ้อน 4 ประการ คือ
1) เพื่อผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครูประจำการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ และวุฒิทางครูอย่างรุนแรงในยุคนั้น ตามนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติและการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือของประชาชนในประเทศ (Literacy Campaign) ที่เน้นการลดจำนวนผู้ไม่รู้หนังสือของประชาชนทั่วไป
2) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาอุดมศึกษาไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นชนบท ด้วยการลดต้นทุนทางการศึกษาในภาคประชาชนให้กับชาวชนบทห่างไกล ลดภาระในการเดินทางเพื่อรับการศึกษาสำหรับนักเรียนต่างจังหวัด และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับเด็กเรียนดี ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ในชนบทตามแนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน
3) เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนครูเรื้อรัง ในโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทห่างไกลบางแห่ง เนื่องจากคนในท้องถิ่นห่างไกลไม่มีโอกาสเรียนครู และผู้ที่เรียนครูซึ่งมาจากท้องถิ่นอื่นที่มีความสะดวกสบายกว่า ไม่ประสงค์ที่จะเป็นครูในโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารและห่างไกล
4) เพื่อกระจายนักวิชาการและผู้มีความรู้ความสามารถระดับสูงจากส่วนกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครออกไปประจำต่างจังหวัด เพื่อให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่ชาวชนบทในการประกอบการงานอาชีพ อันเป็นการเสริมสร้างรากฐานในการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงได้เริ่มต้นจากการเป็นวิทยาลัยครูภูเก็ต จัดการศึกษาตามปรัชญาและอุดมการณ์ดังกล่าว โดยเปิดสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษากับประกาศนียบัตรวิชาการชั้นสูง และจัดการอบรมเพื่อส่งเสริมวิทยฐานะครูประจำการ ตามหลักสูตรครูมัธยม (พ.ม.) มีพื้นที่รับผิดชอบในการผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครูในเขตภาคใต้ 5 จังหวัดชายฝั่งตะวันตก (ฝั่งอันดามัน) ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ และตรัง
เมื่อได้มีประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูภูเก็ต จึงได้เปิดสอนระดับปริญญาในสาขาวิชาการศึกษา ใช้ชื่อปริญญาครุศาสตรบัณฑิต ในแขนงวิชาเอกต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อตอบสนองความต้องการโอกาสทางการศึกษาอุดมศึกษาของประชาชนในท้องถิ่นให้กว้างขึ้น
หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2527 วิทยาลัยครูภูเก็ตได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาจากเดิม โดยเปิดสอนตามหลักสูตรระดับปริญญาตรี ในสาขาวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เพิ่มเติมจากสาขาครุศาสตร์ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น
ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจากวิทยาลัยครูภูเก็ต เป็นสถาบันราชภัฏภูเก็ต ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏนี้มุ่งเน้นให้สถาบันราชภัฏ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ให้การศึกษาและวิชาชีพชั้นสูงได้หลายสาขาวิชา จนถึงระดับปริญญาเอก โดยให้คงภารกิจการผลิต การฝึกอบรม และการส่งเสริมวิทยฐานะครู ซึ่งเป็นภารกิจหลักในอดีตเอาไว้เช่นเดิม
ในปี พ.ศ. 2543 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนาบินหลา มีมติเห็นชอบแบ่งที่ดินทุ่งสาธารณะเลี้ยงสัตว์ในทุ่งโคกชะแง้ ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 52 ไร่ 80 ตารางวา เพื่อให้สถาบันจัดตั้งศูนย์ให้การศึกษา สถาบันราชภัฏภูเก็ตประจำจังหวัดตรัง สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินบริเวณข้างเคียงเพิ่มเติมที่ตำบลนาบินหลา จำนวน 2 แปลง แปลงที่ 1 จำนวน 12 ไร่ 55 ตารางวา แปลงที่ 2 จำนวน 12 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา ราคาประเมินไร่ละไม่เกิน 500,000 บาท วัตถุประสงค์เพื่อขยายที่ดินให้มีอาณาเขตติดต่อกับถนน รพช. ตามมติการประชุมกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏภูเก็ต ครั้งที่ 3/2537 วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2547
ปัจจุบันได้มีพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีภารกิจตาม มาตรา 7 ซึ่งระบุไว้ว่า “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยาเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการสังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”