เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรจังหวัดภูเก็ต และโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม จังหวัดภูเก็ต โดยมี ผศ.ดร.ดรุณี บุณยอุดมศาสตร์ รองอธิการบดี ม.ราชภัฏภูเก็ต นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต นางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและทางวัฒนธรรม รวมถึงบุคคลทั่วไป เข้าร่วม
สำหรับการอบรมได้รับเกียรติจากคณะวิทยากร ที่ประกอบด้วย นายฉัตรชัย ระเบียบธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ดีกรีนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับโลก กรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัทยอด คอร์ปอเรชั่น จํากัด / รศ.ดร.วรัญญู ศรีเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโครงสร้างและวัสดุบรรจุภัณฑ์ อาจารย์ประจำภาควิชา เทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ / นายศุภชัย แกล้วทนงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมสร้างสรรค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นักคิด ดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด เจ้าของแบรนด์ TIMA / นายพิภพ สมเวที ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต / นายฤธรรมรง ปลัดสงครามผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชุมชน ประธานสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต / นายกิตติศักดิ์ จิตต์เกื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ชุมชน ประธานสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
นายปารเมศ ทองปรีชา เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เห็นความสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ในการส่งเสริมการนำสินค้าเกษตรและทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตรและวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จึงเสนอโครงการยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม จังหวัดภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพ ต่อยอดแนวความคิดผลิตภัณฑ์และดึงความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆ จากตัวผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้กลุ่มเครือข่ายภาคการเกษตร เครือข่ายทางวัฒนธรรม วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ เกิดการสร้างรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และเพื่อเป็นการบูรณาการความหลากหลายทางการเกษตรและทางวัฒนธรรม เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์”
ด้าน ผศ.ดรุณี บุณยอุดมศาสตร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวด้วยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้รับเกียรติจากทางจังหวัดภูเก็ต ให้จัดโครงการครั้งนี้ขึ้นเพื่อการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น การนำทุนและทรัพยากรทางการเกษตรและทางวัฒนธรรม มาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองที่นับได้ว่ามีผลผลิตสินค้าเกษตร และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่จะหยิบยกขึ้นมาสร้างสรรค์ให้เกิดแรงบันดาลใจในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ โดยการบูรณาการและประสานความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่ นับเป็นการให้บริการวิชาการและองค์ความรู้แก่ท้องถิ่น”
ติดตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้ทาง W: www.pkru.ac.th E: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. F: facebook.com/pkrupageT: 076 211 959