
งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยสู่ท้องถิ่น” โดยมี ผศ.ดร.สุวิชา วิริยมานุวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นางรัตนา จันทร์จะนะ รักษาการผู้อำนวยการกองกลาง ดร.วาสนา ศรีนวลใย รักษาการหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ ทีมงานประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏภูเก็ต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน สื่อมวลชน บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ร่วมกิจกรรมระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด เกี่ยวกับการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสะท้อคิด และความต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้าไปดำเนินการอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการสื่อสารในรูปแบบของการทำงานตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการบริการวิชาการผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบการจัดงาน โครงการ กิจกรรม ที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับสภาพของบริบทในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน ท้องถิ่น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ณ ห้องคุณหญิงกาญจนา ศูนย์ประชุม ม.ราชภัฏภูเก็ต


ผศ.ดร.สุวิชา วิริยมานุวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ให้ความเห็นว่า “การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเครือข่ายการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยสู่ท้องถิ่น” เป็นโครงการที่ประโยชน์มากกับมหาวิทยาลัย ชุมชน และภาคีภาคส่วนที่เข้าร่วม เนื่องจากเป็นการสร้างโอกาสให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันสะท้อนสภาพ ปัญหา ความต้องการโดยเฉพาะภาคีชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ และทำความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพการสื่อสารให้เกิดการพัฒนาในชุมชน ท้องถิ่น อย่างแท้จริงได้ อย่างไรก็ตาม กว่า 48 ปี ที่มหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ในการดูแลและชี้นำชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งนอกเหนือจากการผลิตบัณฑิต ภารกิจสำคัญอีกประการ คือ การบริการวิชาการให้กับประชาชนในท้องถิ่นในฝั่งอันดามัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และมิติอื่นๆ ของการพัฒนา สิ่งต่างๆเหล่านี้ หากได้รับการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร มีการเผยแพร่และถ่ายทอดออกสู่สาธารณชนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนั้น จะเป็นการช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนในชุมชน ท้องถิ่น สามารถเข้าถึงและเกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนร่วมกันด้านการสื่อสารในครั้งนี้ จึงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรม”




ด้าน นางรัตนา จันทรจะนะ รักษาการผู้อำนวยการกองกลาง ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี เป็นหน่วยงานกลาง และเป็นหน่วยงานหลักในการสื่อสารข้อมูลข่าวสารจากมหาวิทยาลัยสู่สาธารณชน โดยเฉพาะการสื่อสารถึงชุมชน ท้องถิ่น ดังนั้นการให้ความสำคัญในการสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็น ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้อง และมีทิศทางการดำเนินงานที่ตรงกันของทุกๆ ภาคส่วน เช่น ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน สื่อมวลชน มหาวิทยาลัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดระหว่างผู้ส่งข้อมูลข่าวสารและผู้รับข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สำหรับสภาพการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่ผ่านมา พบว่า การสื่อสารข้อมูลข่าวสารจากมหาวิทยาลัย ยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนในระดับชุมชน ท้องถิ่นเท่าที่ควร สาเหตุประการหนึ่งคือ การสื่อสารที่ไม่ตรงกับความต้องการ การใช้ช่องทางการสื่อสารที่เข้าไม่ถึงชุมชน ท้องถิ่น การขาดความรู้ ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อให้เกิดการพัฒนาสูงสุดระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน เหล่านี้จึงส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จากสภาพปัญหาที่กล่าวมา งานประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏภูเก็ต จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้น เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง


















Text & Pics by ประชาสัมพันธ์ ม.ราชภัฏภูเก็ต (PR PKRU)
FollowPKRU W: www.pkru.ac.th E: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. F: facebook.com/pkrupage T: 0 7652 3094-7