10,000 คือตัวเลขของจำนวนนักศึกษาและบุคลากร ม.ราชภัฏภูเก็ต ปริมาณดังกล่าวสื่อถึงการใช้ถุงพลาสติกหรือโฟมเฉลี่ยวันละ 10,000 ชิ้น ลองคิดตามดูว่าในหนึ่งเดือนตัวเลขจะพุ่งถึงหลักหลายแสน ซึ่งนับเป็นปริมาณขยะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมืองภูเก็ต อย่างที่ใครหลายคนทราบดีว่าพบวิกฤติการณ์ขยะล้นเมืองอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูลจากเทศบาลนครภูเก็ต รายงานว่าภูเก็ตมีปริมาณขยะ 1,000 ตันต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นปีละ 7%)
ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว ม.ราชภัฏภูเก็ต ขานรับนโยบายการรณรงค์และส่งเสริมการลดใช้โฟม-พลาสติก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นวาระเร่งด่วนในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะของภูมิภาคอันดามัน ตลอดจนเป็นพันธกิจที่สำคัญด้านหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการดำเนินงานของ ผศ.ดร.นพดล จันระวัง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ราชภัฏภูเก็ต
รองฯ นพดล เผยถึงแนวคิดในการผลักดันนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นว่า “ม.ราชภัฏภูเก็ต มีจำนวนสมาชิกกว่า 10,000 คน ทั้งนักศึกษาภาคปกติ จันทร์-ศุกร์ และภาคเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งคณะผู้บริหารเล็งเห็นว่าจะใช้พลังของทรัพยากรบุคคลช่วยเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้เป็นหน่วยงานต้นแบบได้อย่างไร ผมในฐานะของผู้ที่ดูแลงานกิจการนักศึกษา ได้มีการออกนโยบายลดการใช้โฟม-พลาสติก ผ่านการจัดกิจกรรมสำคัญๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น วันเด็กแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานขนาดใหญ่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก เราได้มีการรณรงค์ให้ผู้ร่วมงาน หิ้วปิ่นโต ถือกระบอกน้ำ สะพายถุงผ้า มาร่วมงานเป็นจุดขายเรียกความสนใจ รวมถึงได้รณรงค์ในลักษณะดังกล่าวผ่านกิจกรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลตอบรับและความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนั้นได้กำชับให้องค์การบริหารนักศึกษา สภานักศึกษา และชมรมต่างๆ เป็นแกนนำในการรณรงค์อย่างจริงจัง
ต่อมาเราได้เล็งเห็นว่าศูนย์อาหารจำนวน 3 แห่งภายในมหาวิทยาลัย คือแหล่งที่มาของขยะที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยได้มีการขอความร่วมมือจากผู้ค้าอาหารให้ลดใช้พลาสติก-โฟม หรือเลือกใช้วัตถุดิบรีไซเคิลแทน นอกจากนั้นห้องอาหารปะการัง ในฐานะของหน่วยงานให้บริการจัดอาหารและเครื่องดื่มให้กับงานอีเวนท์ของมหาวิทยาลัยและงานกิจกรรมอื่นๆ ของหน่วยงานภาครัฐ-เอกชนที่เข้ามาใช้บริการของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการลดใช้โฟม-พลาสติก ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามันที่ถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาเกษตรแนวใหม่ และเปิดตลาดนัดธรรมชาติจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติในแนวคิด ตลาดนัดสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ตลาดดังกล่าวเป็นแบบอย่างดีที่นอกจากจะเป็นแหล่งชอปปิ้งสำหรับคนหัวใจสีเขียวแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้โฟมและพลาสติก ขอเพียงแค่เราเลิกใช้ทันทีให้เป็นนิสัย ไม่ต้องรอ ลด ละ เนื่องจากจะสายเกินแก้
ผู้บริหารให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในพลังของการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นโดยต้องเริ่มต้นที่นักศึกษา ที่มหาวิทยาลัย สู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ที่แม้ว่าจะยาก หรือใช้เวลา ก็จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ท้ายนี้ฝากถึงนักศึกษาให้ร่วมกันแสดงพลัง ร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม หิ้วปิ่นโต ถือกระบอกน้ำ สะพายถุงผ้า อย่างภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระขยะล้นเมือง”